การเข้าเกียร์ และเทคนิควัดรอบขาโดยไม่ต้องพึง ไมล์วัดรอบขา..
วันนี้ขอย้อนเข้าสู่เรื่อง การใช้เกียร์จักรยานเสียหน่อยนะครับ เพราะเท่าที่ทราบมามือใหม่แทบทุกคนมักจะพบกับปัญหาเรื่องการใช้เกียร์เป็นอันดับแรก เวลาเริ่มปั่นจักรยานไม่ว่าจะเป็นเสือภูเขา เสือหมอบ ไฮบริด ยกเว้น ฟิกเกียร์ กับรถจักรยานแม่บ้าน เพราะพวกนั้นไม่มีเกียร์ต้องกังวล
ครั้งแรกที่ผมเริ่มหันมาปั่นจักรยานเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ในตอนนั้นเป็นเสือภูเขาคันแรกผมยี่ห้อ แคนนอลเดล ปัจจุบันโดนขโมยยกหายไปหลายปีแล้ว ในตอนนั้นได้รถมาใหม่ๆกุมหัวเลย ว่าเราจะใช้เกียร์อย่างไรดี ปกติรถยนต์มีแค่ 5 เกียร์แถมเกียร์ ออโต้ อีกต่างหาก หรือว่าเราต้องเริ่มแบบขับรถยนต์ เข้าเกียร์ต่ำสุดก่อนเลย แบบเกียร์หนึ่งแล้วค่อยๆไล่เกียร์ไป แต่เกียร์จักรยาน มันมีกันตั้งเป็นสิบเกียร์ กว่าจะไล่ขึ้นไล่ลงจนครบ หมดแรงกันพอดี
ก่อนอื่นจำเลยครับว่า หัวใจหลักการใช้เกียร์จักรยานง่ายๆอย่างที่ฝรั่งบอกต่อกันมาก็คือ เราต้องหาเกียร์ที่เหมาะสมกับการปั่นของเราเป็นหลัก ให้มันสัมพันธ์กับรอบขาในการปั่น ไม่หนักจนเกินไป หรือไม่เบาจนเกินไป ปั่นแล้วสบายๆ นั่นคือจุดต่ำแหน่งที่เหมาะที่สุด ซึ่งมันจะหนักจะเบา ก็ขึ้นอยู่กับรอบขาและสภาวะถนน ไม่มีกฎตายตัวว่า ออกรถต้องใช้เกียร์ต่ำสุดเสมอไป
กฎเหล็กต้องห้ามก่อนที่จะไปบอกเรื่องการเข้าเกียร์ มีกฎเดียวครับ คือ อย่าให้โซ่เฉียง !! นั่นหมายถึงเข้าเกียร์แล้วโซ่มันเฉียงระหว่างจานหน้ากับเฟืองหลัง เช่น โช่อยู่จานหน้าใบใหญ่สุด แต่อยู่เฟืองหลังใหญ่สุดเช่นกัน โซ่มันจะเฉียงอาจจะมีเสียง แกร๊กๆ หรือบางทีก็อาจจะทำให้โซ่ตกเลยก็ได้เช่นกัน อีกกรณีคือ โซ่อยู่จานหน้าเล็กสุด และเฟืองหลังเล็กสุด โซ่มันก็เฉียงเหมือนกัน ปัญหานี้เจ็บกันมาเยอะแล้วครับ ทำให้โซ่ตกฟันเฟรมเป็นรอย
สำหรับการใช้เกียร์ก็ไม่ยากครับ อย่าซีเรียสจนต้องกังวลเวลาปั่น อาศัยความรู้สึกของกำลังขาเราเป็นหลักดีกว่า ผมขอยกตัวอย่าง เอาแบบง่าย สมมุติจานหน้าเรามีสามใบ เฟืองหลังเรามี 7 เกียร์
การเข้าเกียร์ต่ำ เช่นเวลา ขึ้นเขา หรือ ปั่นทวนลม จานหน้าควรเป็นจานเล็กสุด ส่วนเฟืองหลังก็เป็นเฟืองใหญ่สุด สามารถไล่เกียร์ลงมาได้ เช่นปรับเฟืองหลังลงมาเป็น อันที่ 1-3
การเข้าเกียร์ระดับกลาง เป็นการใช้งานแบบทุกสภาวะถนน เรียบบ้าง เนินบ้าง จานหน้าจะใช้จานกลาง และเฟืองหลัง ก็อยู่ช่วงกลางๆด้วยเช่นกัน อาจจะเป็นเฟือง 3-6
การเข้าเกียร์สูง สำหรับสภาวะถนนเรียบ มีลมส่งท้าย เป็นการใช้จานหน้าใหญ่สุด และเฟืองหลังเล็กลง จนถึงเล็กสุด อาจจะเป็นช่วงเฟืองเบอร์ 4-7
นอกจากเรื่องความรู้สึกของการปั่นว่า ขาหนักไปมั๊ย หรือเบาไปมั๊ย เวลาเข้าเกียร์ อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยให้ความสำคัญมันมากนัก ก็คือ ตัววัดรอบขา ซึ่งไมล์ไร้สายแบบเกรดดีราคาสูงหน่อย จะมีมาให้ด้วย ซึ่งการใช้ตัววัดรอบขาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราเข้าเกียร์ได้แม่นยำมากขึ้น สูญเสียแรงการปั่นน้อยลง ลองนึกสมมุติว่าพลังงานเรามีจำกัด เหมือนน้ำมีเพียงหนึ่งกระติก เราจะดื่มน้ำแบบมั่วๆตามความรู้สึก หรือจะดื่มน้ำแบบฉลาดๆ ประหยัดไว้จนถึงจุดหมาย ตัววัดรอบขาก็เช่นกันเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เราปั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเกียร์จักรยานเป็นตัวผ่อนแรง เมื่อเราเข้าเกียร์ได้แม่นยำและถูกต้อง เราก็ออกแรงทุกวัตต์ อย่างเกิดผลมากที่สุด
กรณีที่ไม่มีตัววัดรอบจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เราก็ยังสามารถวัดรอบขาได้ด้วยเทคนิคดังนี้ครับ บรรดาโปรจักรยานบอกว่า รอบขาที่ดีที่สุดในการปั่นคือรอบที่ 80-100 รอบต่อนาที ต้องควงขาให้อยู่ในระดับนี้ เราสามารถกะรอบขาเราได้กรณีไม่มีไมล์แบบวัดรอบขา คือ ภายใน 10 วินาทีในตอนปั่น หัวเข่าขวาเรายกขึ้นกี่ครั้ง ได้จำนวนเท่าไรคูณด้วย 6 จะออกมาเป็น ค่าของรอบขา
สำหรับวิวัฒนาการเกียร์ในจักรยานก็พัฒนามาจนถึงในระดับเกียร์ไฟฟ้ากันแล้ว แม้แต่เกียร์ดุมปัจจุบันยังมีเกียร์ไฟฟ้าเลยครับ ของ Shimano Alfine Di2 , เกียร์ออโต้ก็มีแล้ว แต่ยังหนักอยู่ , ตัวบอกเกียร์ยุคนี้ก็พ่วงเชื่อมต่อแสดงผลบนจอไมล์ได้แล้วเช่นกัน ทุกอย่างกำลังจะเริ่มเปลี่ยนไปมากขึ้น แต่สุดท้ายถ้าเราไม่มีพื้นฐานการเข้าใจที่ถูกต้องเกียวกับการใช้เกียร์ ก็ไม่ต่างอะไรกับ คนป่ามีปืน
ที่มา... Gadget Bike....
|